วัดพระธาตุจอมไคร้

พระธาตุจอมไคร้ ตั้งอยู่บนยอดเขา ชื่อว่าดอยจ๋อมไคร้ เป็นพระธาตุโบราณเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่สมัยใดไม่ปรากฎหลักฐานแน่นอน ได้แต่มีคนเก่าแก่เล่าสืบกันมาว่าเป็นสถานอันศักดิ์สิทธิ์ คือในฤดูทำนา ปีใดเกิดฝนแล้ง พระสงฆ์ จะขึ้นไปทำพิธีขอน้ำฝน ฝนก็จะตกลงมาทุกปี และองค์พระธาตุจอมไคร้นี้ตั้งครอบปล่องปากถ้ำไว้ และมีทางเข้าในถ้ำได้ ในถ้ำนี้มีของโบราณบรรจุในนั้นมากมาย เช่นพระพุทธรูปต่าง ๆ เป็นหินและทอง ก็มีตลอดจนพระเครื่อง ช้างหิน ม้าหิน และยังมีชื่อจาลึกไว้ข้างในถ้ำนั้น ว่าพระธาตุจอมไค ไม่ใช่จอมไคร้ ดังที่เรียกว่าเดี่ยวนี้ และในถ้ำนั้นยังมี ช่องลึกลงไปอีกว่า ไม้ยาวสัก 10 วา มัดต่อกันหยั่งลงไปในถ้ำนั้นก็ยังไม่ถึง และที่ลึกลงไปนั้นมีเสียงดังหึ่ง ๆ คล้ายเครื่องยนต์ จึงไม่มีผู้ที่สมารถจะเข้าไปได้ และข้างพระธาตุนี้ทางทิศตะวันออกมีวิหารโบราณไว้ แต่ก็ไม่ใหญ่โตนัก ซึ่งสร้างด้วยอิฐทั้งหมด ตลอดจนหลังคา เพราะมีผู้พบเห็นอ้างว่า ประมาณ 60 ปี มาแล้วนั้นยังเป็นรูปดีอยู่ ข้างในมีพระพุทธรูปบรรจุไว้มากมาย แต่เดียวนี้ได้ยุบลงถมกันไว้ สิ่งของข้างในนั้นจะยังอยู่ดังเดิมหรือไม่ แต่ดูตามสถานแล้วไม่เคยมีใครรื้อหรือไม่มีใครขุดแต่อย่างใด ยังมีอยู่จนปัจจุบันนี้

ประวัติต่อมาในปี พ.ศ. 2470 ก็ได้มีนักบุญแห่งล้านนาไทย คือ ครูบาเจ้าศรีวิชัย ก็ได้มาบูรณะพระธาตุจอมไคร้ ซึ่งก็ได้ก่อเจดีย์ครอบเจดีย์องค์เก่าที่ชำรุดไป แล้วครูบาเจ้าศรีวิชัยได้บอกให้ศรัทธาที่ได้เดินทางมาร่วมกันสร้างพระธาตุเจดีย์แห่งนี้ว่า ต่อไปคนเราก็แสวงหาข้าวของและหาสิ่งที่เป็นวัตถุโบราณต่างๆเหล่านี้ และก่อนที่จะสร้างเจดีย์ ครูบาเจ้าศรีวิชัยก็ได้ให้ช่วยกันเก็บวัตถุโบราณต่างๆเข้าเก็บไว้ในถ้ำเป็นจำนวนมากมาย แล้วก็ได้ก่อเจดีย์ครอบเจดีย์และถ้ำอันเก่า เพื่อที่จะไม่ให้ผู้ใดลักลอบเข้าไปเอาทรัพย์สิน และ ของโบราณต่างๆ เมื่อได้ข่าวการสร้างบูรณะพระธาตุจอมไคร้ ไปถึงที่ไหนไม่ว่าไกล้หรือไกล ต่างก็มีจิตศรัทธาพากันมาร่วมสร้างจึงทำให้การก่อสร้าง เป็นไปอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาสร้าง 1 ปีกว่าๆ ก็เสร็จ แล้วจึงให้มีการทำบุญให้เป็นประจำปีของทุปีโดยกำหนดเอา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือนห้าเหนือ(ห้าเป็ง)เป็นประเพณีสรงน้ำพระธาตุจอมไคร้ โดยมีชาวพุทธศาสนิกชนในตำบลต่างๆ เช่น ตำบลห้วยลาน ตำบลป่าซาง และ ตำบลดงสุวรรณ เป็นต้น ก็จะมาร่วมงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุจอมไคร้เป็นประจำทุกๆปี #พระมหาเจติยาธาตุเจ้าจ๋อมไคร้

ข้อมูลและรูปภาพ : พระสิทธิพงษ์ สนฺตจิตฺโต